Tuesday, April 2, 2013

ประวัติวัดเซนต์ร็อค

128 ปี อันยาวนาน จากอดีตถึงปัจจุบัน
แนวทางและการพัฒนา ความทุ่มเทของพระสงฆ์ ความศรัทธาของสัตบุรุษ
กว่าจะมาเป็นวัดเซนต์ร็อคทุกวันนี้...


วัดเซนต์ร็อค ท่าไข่ ปัจจุบัน
วางรากฐาน
ในการแพร่ธรรมช่วงแรกในประเทศไทย กลุ่มเป้าหมายมุ่งไปที่กลุ่มคนจีน โดยอ้างอิงจากคำกล่าวของคุณพ่อกูเดว่า "ที่นี่มีคนจีนมาก ดูเหมือนจะสอนคนจีนให้กลับใจง่ายกว่าคนไทย พระเจ้าแผ่นดินไม่ห้ามเขาเป็นคริสตัง และเขาเป็นเหมือนคนต่างด้าว มิสชันนารีที่รู้จักภาษาจีน จะทำประโยชน์ในเมืองไทยได้มาก" ดังนั้น พระสังฆราชกูร์เวอซี <Courvezy> จึงให้คุณพ่ออัลบรังด์ <Albrand> มาสอนคนจีนในประเทศไทย
ที่แปดริ้ว
วัดแรกที่แปดริ้ว เกิดขึ้นที่บ้านใหม่ ในปี ค.ศ.1840 (พ.ศ.2383) สร้างโดยคุณพ่ออัลบรังด์ เป็นวัดชั่วคราว สร้างด้วยไม้ไผ่ อันเป็นวัดร่วม สำหรับคริสตชนชาวแปดริ้วและท่าไข่
ในปี ค.ศ.1857 (พ.ศ.2400) เนื่องจากคริสตชนมีจำนวนมากขึ้น คุณพ่อดานิแอล <Daniel> ได้รื้อวัดไม้ไผ่เสีย สร้างใหม่ด้วยไม้ ให้มีความแข็งแรง และกว้างขวางขึ้น


คุณพ่อชมิตต์
ต่อมาในปี ค.ศ.1873 (พ.ศ.2416) คุณพ่อชมิตต์ <Schmitt> ได้รื้อวัดที่บ้านใหม่ ย้ายไปสร้างวัดใหม่ที่เซนต์ปอล ตามบันทึกกล่าวไว้ว่า "ท่านซื้อที่ดินผืนหนึ่ง บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ บนที่ดินผืนนี้ ท่านได้สร้างวัดนักบุญเปาโล สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1875 (พ.ศ.2418) เป็นอิฐ พร้อมด้วยหอระฆังไม้ 2 หอเล็กๆ นับได้ว่า เป็นวัดที่สวยงามหลังหนึ่งในกรุงสยาม"
วัดเซนต์ร็อค
หลังจากที่สร้างวัดเซนต์ปอลเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อชมิตต์สังเกตเห็นว่า คริสตังท่าไข่มาวัดเซนต์ปอลน้อยมาก เพราะอยู่ไกลเกินไป ท่านจึงได้สร้างวัดชั่วคราวขึ้นในเขตท่าไข่ วัดน้อยนี้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1875 (พ.ศ.2418)


คุณพ่อแปร์แบต์
ในปี ค.ศ.1904 (พ.ศ.2447) คุณพ่อแปร์แบต์ <Perbet> ได้สร้างวัดขึ้นใหม่เป็นไม้สักทั้งหลัง
ตามบันทึกรายงานประจำปี <C.R. : Compte Rendu> บันทึกไว้ว่า
"คุณพ่อแปร์แบต์ เห็นว่าวัดน้อยเล็กเกินไป และกำลังจะผุพัง รวมทั้งคริสตชนก็กระจัดกระจายไปตามริมคลองเนื่องเขต และตามทุ่งนา ท่านจึงได้ใช้เงินส่วนตัวอันเป็นมรดกจากบิดา-มารดาของท่าน ซื้อทุ่งนาแปลงใหญ่ พื้นที่ประมาณ 3000 ไร่ มุ่งให้คริสตังเป็นผู้เช่า จากนั้นท่านได้วางโครงการสร้างวัดใหม่ รวมทั้งบ้านพักพระสงฆ์ บ้านพักภคิณี และโรงเรียนสำหรับเด็กๆ ลูกหลานคริสตัง ได้เรียนหนังสือและเรียนคำสอน โดยขณะนั้นมีคริสตังมาอยู่รวมกันกว่า 300 คน เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อม ท่านจึงขอให้ พระสังฆราชแปร์รอส ส่งคุณพ่อปลัดสักคนมาช่วยดำเนินการ โดยท่านแปร์รอสได้ส่ง คุณพ่อการิเอ <Carrie> มาช่วย
วัดใหม่ถูกสร้างขึ้น ด้วยไม้สักทั้งหลัง โดยคุณพ่อแปร์แบต์เป็นผู้จัดหาซื้อสิ่งก่อสร้างทั้งหมด และให้คุณพ่อการิเอเป็นผู้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง"
ในรายงานประจำปี 1912 (พ.ศ.2455) พระสังฆราชแปร์รอส ได้บันทึกไว้ว่า
"หากแจวเรือ 2 ชั่วโมง จากแปดริ้ว ไปตามคลองที่เชื่อมแปดริ้วกับกรุงเทพ จะถึงบริเวณที่คุณพ่อแปร์แบต์สร้างวัดหลังหนึ่ง ชื่อว่าวัดเซนต์ร็อค ท่าไข่ สำหรับสัตบุรุษที่ทำการเกษตรกรรม ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที คุณพ่อการิเอ เป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง เป็นผู้สอนคริสตังด้วยความร้อนรน โดยเฉพาะกับพวกเด็กๆ"
คุณพ่อแปร์แบต์ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1924 (พ.ศ.2467) โดยท่านได้ทำพินัยกรรม มอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ของวัดเซนต์ร็อค ท่าไข่ ให้แก่คุณพ่อการิเอเป็นการส่วนตัว เพราะคุณพ่อปลัดท่านนี้ ได้ทุ่มเทกำลังกายและใจตลอดเวลา เพื่อช่วยพัฒนาโครงการของท่าน ทั้งที่วัดเซนต์ร็อคและวัดเซนต์ปอล

คุณพ่อการิเอ
ในช่วงที่คุณพ่อการิเอเป็นเจ้าอาวาส ทั้งที่วัดเซนต์ร็อคและวัดเซนต์ปอลนั้น ท่านได้มุ่งพัฒนาด้านการศึกษา และการสอนคำสอน กล่าวกันว่าท่านมีลูกเลี้ยงนับ 100 คน ทั้งชายและหญิง เด็กเหล่านี้ล้วนเป็นเด็กกำพร้า ซึ่งท่านได้สร้างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ให้การเลี้ยงดู และให้การศึกษา
ท่านได้สร้างวัดเซนต์แอนโทนีขึ้นในปี ค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) เยื้องจากวัดเซนต์ปอลลงมาทางใต้ คนละฟากแม้น้ำ ติดกับตัวเมืองฉะเชิงเทรา ทำให้คริสตชนด้านตัวเมือง ไปวัดได้สะดวกขึ้น รวมทั้งสร้างโรงเรียน บ้านพักพระสงฆ์ และบ้านพักภคิณี
ในปี ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) คุณพ่อการิเอ ได้มอบกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดของวัดเซนต์ร็อคให้กับมิสซังโรมันคาทอลิคกรุงเทพ
คุณพ่อเฮนรี การีเอ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 1961 (พ.ศ.2504) โดยได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ และคำเตือนใจสุดท้าย จากคุณพ่อลังฟรังด์ ที่วัดเซนต์ปอล
ในช่วงที่คุณพ่อลังฟรังด์ <Lenfant> เป็นเจ้าอาวาสวัดเซนต์ร็อคและวัดเซนต์ปอล ปี ค.ศ.1960-1970 (พ.ศ.2503-2513) ท่านได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ขึ้นที่วัดเซนต์ร็อค เพื่อรองรับจำนวนเด็กๆ ที่เพิ่มมากขึ้น และสร้างถนนเชื่อมต่อจากคลองหน้าวัด ถึงทางหลวง สายมีนบุรี-ฉะเชิงเทรา


คุณพ่อสำอางค์
ระหว่างนั้น คุณพ่อเอากุสติโน สำอางค์ ผิวเกลี้ยง ได้มาเป็นคุณพ่อปลัดวัด (ตั้งแต่คุณพ่อการิเอเป็นเจ้าอาวาส) โดยท่านปกครองวัดเซนต์ร็อค ทำหน้าที่เสมือนเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีกหลังหนึ่ง และทำถนนหน้าวัดมาเชื่อมต่อกับคลอง ว่ากันว่าท่านเป็นคนดุ และเคร่งครัด แต่ท่านก็ใจดี ท่านได้วางรากฐานให้กับคริสตชนวัดเซนต์ร็อค ทั้งด้าน ความศรัทธา และการสวดภาวนา ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่ม คณะพลมารีของวัดเซนต์ร็อคอีกด้วย ท่านได้ปลูกฝังความมีระเบียบวินัย ทั้งยังเป็นตัวอย่างในด้านเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ทำให้ลูกวัดมีอาชีพเสริม เพิ่มเติมจากการทำนา
ตัวอย่างด้านความศรัทธา และความมีวินัยสงฆ์อันเคร่งครับที่เห็นได้ชัดในตัวท่าน จากคำบอกเล่ากล่าวว่า ขณะที่ท่านป่วยมากแล้ว ท่านยังให้คนพยุงท่าน เพื่อถวายบูชามิสซา ท่านได้นำพระพรของพระเป็นเจ้า มาสู่สัตบุรุษวัดเซนต์ร็อคจนถึงวาระสุดท้ายของท่าน
คุณพ่อสำอางค์ ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 1969 (พ.ศ.2512) ด้วยโรคมะเร็ง ณ วัดเซนต์ร็อค ท่าไข่ ศพของท่าน ถูกเชิญไปฝังไว้ที่สุสานวัดเซนต์ร็อค ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นแท่นบูชามิสซา ในพีธีเสกสุสานของทุกปี
เจ้าอาวาสท่านถัดมา คือคุณพ่อยอลี <Joly> ระหว่างปี ค.ศ.1970-1979 (พ.ศ.2513-2522) ท่านได้จัดสร้างสะพานไม้ข้ามคลองหน้าวัด เพื่อให้ชาวบ้านข้ามไปมาได้สะดวก ซึ่งเดิมต้องใช้เรือข้ามคลอง และท่านได้ขอให้มีการเดินไฟฟ้าจากทางหลวงสายมีนบุรี-ฉะเชิงเทรา มาถึงบ้านท่าไข่ด้วย

วัดเซนต์ร็อค หลังเก่า
ลักษณะของวัดแต่เดิมนั้น เป็นไม้สักทั้งหลัง รวมทั้งกระเบื้องที่ใช้ในการมุงหลังคาด้วย (ทำด้วยไม้สักตัดเป็นสี่เหลี่ยม ใช้มุงหลังคา เรียกกันว่า กระเบื้องไม้สัก) ไม้เหล่านี้ซื้อจากห้างบอมเบย์เบอร์ในกรุงเทพ ซึ่งทำกิจการไม้สักในประเทศอังกฤษ และขนย้ายโดยทางเรือ มายังวัดเซนต์ร็อค
ประตูบานใหญ่ ทางเข้าวัด เดิมเปิดเป็นช่องกว้าง มีเพียงลูกกรงเตี้ยๆ ติดบานพับกั้นไว้เท่านั้น เมื่อก้าวเข้าไปจะเป็นระเบียงโดยรอบ มีฝาผนัง 2 ชั้น ผนังด้านในอยู่ในแนวเสา วัดมีทางเข้า 3 ทาง ตรงกลางเป็นประตูใหญ่ และมีประตูเล็กด้านซ้ายและขวา ที่สุดทางของระเบียงทั้ง 2 ด้าน มีประตูเปิดไปยังห้องชาคริสเตีย สภาพของห้องชาคริสเตีย เดิมทำเป็นมุมยื่นออกไปเพื่อใช้เป็นที่พักพระสงฆ์ เมื่อยังสร้างบ้านพักพระสงฆ์ไม่เสร็จ ภายหลังได้มีการรื้อผนังด้านในของวัดออกทั้งหมด เหลือเพียงผนังด้านนอก เพื่อให้พื้นที่ของวัดกว้างขึ้น


วัดเซนต์ร็อค หลังใหม่
วัดหลังใหม่ ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1983 (พ.ศ.2526) เสร็จสมบูรณ์ ในปี ค.ศ.1987 (พ.ศ.2530) อันเนื่องมาจาก สภาพอันทรุดโทรมลงตามกาลเวลาของวัดหลังเก่า และจำนวนสัตบุรุษที่เพิ่มขึ้น วัดหลังเก่าเล็กเกินไปจนผู้ที่มาวัดบางส่วน ต้องยืนฟังมิสซาที่ด้านหน้าวัด
โครงการสร้างวัดหลังใหม่จึงเริ่มขึ้น โดยย้ายจากที่ตั้งวัดเดิมมาประมาณ 400 เมตร ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของถนนเชื่อมคลองหน้าวัด กับถนนหลวง ทั้งนี้เพื่อให้การเดินทางมาที่วัดเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น


ภาพถ่ายมุมกว้าง วัดเซนต์ร็อค
ตัววัดตั้งอยู่บนพื้นที่ 20 ไร่ ประกอบด้วยวัด บ้านพักพระสงฆ์ บ้านพักภคิณี อาคารเรียน 2 หลัง และโรงอาหารอีก 1 หลัง บนบริเวณที่กว้างขวาง เพื่อรองรับการขยายตัวของสิ่งปลูกสร้างในอนาคต ดังที่ได้เห็นในปัจจุบัน

Copyright © 2003 Catholic Church of Saint Roch, all rights reserved.

No comments: